เส้นทางสุวรรณภูมิ – อารยธรรมร่วมอาเซียน ในศตวรรษที่ 21


ทีมวิจัยโครงการ สุวรรณภูมิ: ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน ร่วมกับหน่วยงานหลายฝ่าย ทั้งทางด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับอารยธรรมสุวรรณภูมิทั้งหมด วิเคราะห์แล้วพิกัดลงไปในแผนที่โลก พิกัดทั้งหมดที่ได้ในช่วงแรกมากกว่า 4,000 จุดที่เป็นความเกี่ยวข้องในอารยธรรมสุวรรณภูมิ เชื่อมโยงทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย จีน รวมถึงยุโรปและเปอร์เซีย และเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อมายังลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย

และด้วยนโยบายระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Economic Corridors) ทีมวิจัยโครงการฯ จึงเลือกโฟกัสไปที่เส้นทางที่อยู่ในแถบนี้ ได้แก่ เส้นทางข้ามคาบสมุทรปากโขง-ปากมังกร เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับอารยธรรมสุวรรณภูมิ เส้นทางข้ามคาบสมุทรปากโขง-ปากมังกร เป็นเส้นทางสําคัญเชื่อมโยงการค้า 4 ประเทศระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ เส้นทางดังกล่าวเริ่มจากเมืองทวาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ข้ามเทือกเขาตะนาวศรี มาตามหุบเขา ช่องเขา และทางน้ำเข้าสู่ประเทศไทย ผ่านที่ราบภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก เข้าสู่ประเทศกัมพูชาตอนเหนือและตะวันออกของโตนเลสาบ และสิ้นสุดที่เมืองออกแก้ว จังหวัดอานยาง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จากแนวเส้นทางปากโขง-ปากมังกร พบการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ตลอดแนวเส้นทาง 1,170 กิโลเมตร ถึง 11 กลุ่มเมือง ได้แก่ เมืองท่าการค้าทางทะเล เช่น กลุ่มเมืองทวาย และกลุ่มเมืองเดลต้าแม่น้ำโขง, เมืองท่าการค้าภายในแผ่นดิน เช่น กลุ่มเมืองนครปฐม-ราชบุรี และกลุ่มเมืองศรีมโหสถ-พระรถ, กลุ่มเมืองท่าการค้าชายแดน เช่น เมืองไผ่, กลุ่มเมืองศูนย์กลางการปกครอง เช่น กลุ่มเมืองยโสธรปุระ หริหราลัย ซึ่งในช่วงเวลาที่ที่ราบภาคกลางเป็นชะวากทะเล เมืองโบราณริมขอบตามชะวากทะเลโบราณสามารถเดินทางติดต่อกับชุมชนโบราณตามเส้นทางปากโขง-ปากมังกร ได้ทั้งทางบกและทางน้ำ

จากผลการวิเคราะห์เส้นทางข้ามคาบสมุทรปากโขง-ปากมังกร โดยการใช้คุณค่าในอดีตนำมาประยุกต์สู่การกำหนดยุทธศาสตร์ในอนาคต ด้วยคำสำคัญคือ “วัฒนธรรมร่วม” (co-cultural values) โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาดังนี้

  1. Global Mega Trends บริบทสังคมโลกเป็นอย่างไรในอนาคต พิจารณาและวิเคราะห์ไปในอีก 50 ปีข้างหน้า
  2. Disruptive Changes การเปลี่ยนอย่างฉับพลันในเรื่องของเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนมนุษย์ปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์นั้นได้ยาก มีการเตรียมความพร้อมรับมืออย่างไรบ้าง
  3. Geo-politics ภูมิรัฐศาสตร์ที่จะรวมตัวเป็นภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของแผ่นดินสุวรรณภูมิ แต่เดิมพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ได้มีเส้นเขตแดนอย่างปัจจุบัน ผู้คนมีการพลวัตภายในตัวของดินแดนสุวรรณภูมิอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดถ่ายเทในช่วงสงคราม หรือว่าการติดต่อค้าขายหรือว่าภัยพิบัติต่าง ๆ การถ่ายเทเคลื่อนย้ายของคนตลอดหลาย ๆ ส่วนของผู้คน ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก็ปรากฏ รวมทั้งเรื่องภาษาวัฒนธรรม ถ้าสามารถก้าวข้ามผ่านเรื่องนี้ได้ สุวรรณภูมิจะกลายเป็นภูมิรัฐศาสตร์แห่งใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสู่อนาคต
  4. Social Innovation นวัตกรรมทางสังคมเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมของวัฒนธรรม
  5. Sustainable Development เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ต้องอยู่ในยุทธศาสตร์และตัวชี้วัดแนวทาง

การกำหนดยุทธศาสตร์ในการเดินต่อไปด้วยกันของอาเซียน จะเริ่มต้นจากการพูดคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรม โดยใช้เครื่องมือที่ GISTDA สร้างขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การสร้างแพลตฟอร์มความเข้าใจในเรื่องเดียวกัน และต่อยอดประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วนได้อย่างเต็มที่

คัดย่อจากงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ สุวรรณภูมิ: ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ณ Auditorium Hall, ชั้น 10 C asean, อาคาร CW Tower

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของสุวรรณภูมิ : ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน (Suvarnabhumi : Terra of ASEAN Co-cultural Values)ได้ที่ suvarnabhumi.gistda.or.th