การดำเนินโครงการสุวรรณภูมิ – เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กับ คุณค่า 5 มิติ


      ในอดีตมีการศึกษาขอบเขตของดินแดนสุวรรณภูมิโดยใช้ข้อมูลในมิติทางด้านวัฒนธรรม โบราณคดี ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐาน ฯลฯ เพียงเท่านั้น แต่ยังไม่มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศอย่างกว้างขวางในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยยังมีการศึกษาหรือทำงานประยุกต์ด้านดังกล่าวในวงแคบ
      สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) จึงมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Satellite & Geo-Informatics) มาเป็นเครื่องมือหลักในการศึกษา ร่วมกับข้อมูลบ่งชี้ทางสถิติที่นำมาคำนวณ ประเมิน และจำแนกให้เห็นผลของความเชื่อมโยงของมรดกทางวัฒนธรรมและที่ตั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถเล็งเห็นความสำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิที่สามารถนำมาพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ในปัจจุบันได้ โดยเป็นนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบ Cultural Heritage Platform เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการสร้างคุณค่าจากนวัตกรรมที่สามารถเปิดโลก แนวคิด และมุมมองใหม่ ๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เพื่อพลิกฟื้น “สุวรรณภูมิ” ด้วยการสร้างมุมมองใหม่จากคุณค่าทางวัฒนธรรมตามโครงการ สุวรรณภูมิ: ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน นำไปสู่การสร้างแนวคิดคุณค่าแห่งสุวรรณภูมิให้ปรากฏเป็นรูปธรรม เพื่อขยายไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จุดประกายแห่งความภาคภูมิใจร่วมกันในคุณค่าของอารยธรรมแห่งผืนแผ่นดินสุวรรณภูมิจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และเชื่อมโยงสู่การพัฒนาของโลกในศตวรรษที่ 21 ควบคู่กันไป คุณค่าทั้ง 5 มิติ ได้แก่

มิติที่ 1 ด้านภูมิศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ (Geography and Natural Resources) เชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งพืชผล พื้นที่เพาะปลูก แร่ธาตุ การขนส่ง เพื่อผลผลิตที่งอกงาม
มิติที่ 2 ด้านการตั้งถิ่นฐาน และพัฒนาการของรัฐ (Settlement and Polity Development) ร่วมกันสร้างกฎระเบียบและกติกาที่ช่วยพัฒนาให้การร่วมมือของรัฐเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
มิติที่ 3 ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิทยาการและการผลิต (Science and Technology) พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยานยนต์ หรือแม้แต่ฮาร์ดดิสก์ ฯลฯ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมติดต่อทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
มิติที่ 4 ด้านการค้า พาณิชยการและบริการ (Commercial, Trade and Services) บทบาทของอาเซียนด้านการค้า การบริการ ยังคงความสำคัญในระดับโลก สามารถดึงดูดการค้า การลงทุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการเงิน การธนาคารและการบริการ
มิติที่ 5 ด้านศิลปะและวัฒนธรรม (Art, Culture and Civilization) ความเป็น “สุวรรณภูมิ” ถือเป็นวาระสำคัญในการสร้าง “วัฒนธรรมร่วม” ด้านประชาคม สังคมและวัฒนธรรม อันเป็นเสาหลักที่ 3 ของประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) เป้าหมายเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชากรในมิติทางวัฒนธรรม ยอมรับและเคารพในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน นำไปสู่ความเข้าใจและความร่วมมือในการลดปัญหาความขัดแย้ง

      GISTDA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การตามรอย “สุวรรณภูมิ” ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้คุณค่าแห่งศักยภาพผ่านรูปลักษณ์ (Features) ที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภูมิสารสนเทศ ซึ่งตรงกับพันธกิจของจิสด้าในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ

คัดย่อจากงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ สุวรรณภูมิ: ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ณ Auditorium Hall, ชั้น 10 C asean, อาคาร CW Tower

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของสุวรรณภูมิ : ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน (Suvarnabhumi : Terra of ASEAN Co-cultural Values)ได้ที่ suvarnabhumi.gistda.or.th