ความสำคัญของเส้นทางสายไหม


 

ความสำคัญของเส้นทางสายไหม

   “เส้นทางสายไหม” เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ยุคกษัตริย์หวู่ตี้ หรือเมื่อ 202 – 8 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยเริ่มต้นจากความต้องการของกษัตริย์หวู่ตี้ ที่ประสงค์จะปูพื้นฐานให้แก่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระว่างจีนกับโลกตะวันตก จึงส่งฑูตออกไปสู่เขตตะวันตก ซึ่งก็คือพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลทางตะวันตกของมณฑลกานซู่ถึง 2 ครั้ง โดยให้ทางคณะทูตของจีน นำโดยนายจาง เชียน ออกเดินทางจาก เมืองฉางอัน หรือ เมืองซีอาน ในปัจจุบัน ผ่านมณฑลกานซู่ เขตซินเจียงของจีน ไปเยือนเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก และประเทศต่าง ๆ ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งได้นำผ้าไหม วิธีการทำกระดาษ และศิลปะต่าง ๆ ของจีน ไปเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน และสิ่งที่ทางคณะทูตแลกเปลี่ยนกลับมาที่จีนนั้นได้แก่ ผลไม้ เช่น องุ่น วอลนัต แครอท เครื่องหอมและผลิตภัณฑ์ศิลปะหัตถกรรมต่างๆ ของนานาประเทศอาทิ ชาวเปอร์เซีย ชาวอินเดีย และชาวโรมัน และในภายหลังเส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางสำคัญของการค้าขาย ที่เรียกว่า “เส้นทางสายไหมทางบก” ซึ่งทำให้เกิดแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการเผยแผ่ศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศจีน

ในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีน (ปีค.ศ. 960–1279) สถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในทวีปเอเซียและทวีปยุโรปได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีการเดินเรือทางมหาสมุทรได้รับการพัฒนาก้าวหน้า การขนส่งทางทะเล โดยเริ่มต้นเดินทางจากชายฝั่งทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ผ่านคาบสมุทรอินโดจีน ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย ไปยังทะเลแดง ซึ่งเป็นช่องทางการค้าทางทะเลที่สำคัญในสมัยโบราณที่จีนดำเนินการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ยุโรป และแอฟริกาตะวันออก ซึ่งได้ขยายบทบาทโดดเด่นมากขึ้น โดยได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “เส้นทางสายไหมทางทะเล”ส่งผลให้เส้นทางสายไหมทางบกค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง

ในบางยุคบางสมัยเส้นทางสายไหมต้องมีอันหยุดลงเนื่องจากการรบราฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจของชนเผ่าและประเทศต่างๆในแถบเอเชียกลางแถบนี้ ที่ทำให้การค้าขายจากตะวันออกสู่ตะวันตกหยุดชะงักจริงๆ ก็คือ สงครามครูเสด หรือสงครามศาสนาระหว่างชาวคริสต์กับอิสลาม ในปีคศ. 1095

ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน (คศ.1279-1368) ของประเทศจีน เป็นยุคที่ต่อเนื่องจากจอมจักรพรรดิเจงกิสข่าน ที่ยกทัพบุกไปตีขยายอาณาเขตไปจดยุโรปตะวันออก และได้เปิดเส้นทางสายไหมทางบกเป็นเส้นทางการค้าขายอีกครั้ง และสืบทอดมาจนถึงสมัยจักรพรรดิกุบไล่ข่านซึ่งเป็นจักรพรรดิมองโกลองค์แรกที่ปกครองประเทศจีน

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาความเชื่อมโยงของเส้นทางสายไหมโบราณกับสุวรรณภูมินั้น มีความจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงเรื่องราวการแลกเปลี่ยนต่างๆ บนเส้นทางสายไหม เพื่อนำไปสู่การค้นพบการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ ศาสนา และวัฒนธรรม เพื่อนำคุณค่าในอดีตมาสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่ประเทศไทย ดังนั้น ทางคณะผู้ศึกษาจึงวางแผนเพื่อลงสำรวจและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยคณะผู้ศึกษาได้วางแผนลงสำรวจใน 2 ประเทศ ที่มีความสำคัญของเส้นทางสายไหมโบราณ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเมืองต้นทางและเป็นจุดกำเนิดของเส้นทางสายไหมและประเทศตุรกี กล่าวได้ว่าเป็นเมืองสำคัญของการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศจีนกับยุโรปนั้นเอง