(ตอนที่ 3) ความเชื่อมโยงของเส้นทางสายไหมโบราณสู่ความรุ่งเรืองในสุวรรณภูมิ ประเทศตุรกี


(ตอนที่ 3) ความเชื่อมโยงของเส้นทางสายไหมโบราณสู่ความรุ่งเรืองในสุวรรณภูมิ ประเทศตุรกี

ความเชื่อมโยงของเส้นทางสายไหมโบราณในประเทศตุรกี (เมืองอีซเมียร์ ถึง เมืองอิสตันบูล) (ความเชื่อมโยงกับเส้นทางสายไหมจากประเทศจีน)

ในส่วนเรื่องเส้นทางการค้าที่มีความเชื่อมโยงกับเส้นทางสายไหมจากประเทศจีนนั้น ทีมงานได้เดินทางสำรวจไปตามเส้นทางในแผนที่ The Silk Road 300 B.C. – A.D. 100 ที่มีเส้นทางกล่าวอ้างในประเทศตุรกี ซึ่งเราได้พบหลักฐานสำคัญคือ สถานที่พักของกองคาราวานที่เป็นลักษณะคล้ายโรงแรมในสมัยโบราณ โดยจากข้อมูลปัจจุบันนักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ของประเทศตุรกีได้ค้นพบหลักฐานของกองคาราวดังกล่าว ถึง 6-7 แห่ง โดยจากการสำรวจสามารถเข้าถึงได้เพียง 4 แห่ง ได้แก่ Alayhan, Tepesi Delik Han , Ağzıkarahan  และ Sultanhanı Caravanserai  แต่ไม่อาจระบุช่วงเวลาที่แน่นอนในการก่อสร้างของสถานที่ดังกล่าวได้ ตามเส้นทางตั้งแต่เมืองคอนย่า-เมืองอังการ่า ประเทศตุรกี

โดยจากการสำรวจพบว่ากองคาราวานที่ถูกค้นพบมีการก่อสร้างในรูปแบบคล้ายคลึงกัน และมีระยะทางที่พบในทุกๆ 15-30 กิโลเมตร ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงการสัญจรค้าขายของพ่อค้าในเส้นทางสายนี้ และเป็นยังเป็นโบราณสถานที่สำคัญที่บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรโบราณในพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น จากการสำรวจพื้นที่ประเทศตุรกี ซึ่งเป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป และเป็นเมืองต้นทางและปลายทางของเส้นทางการค้าทางบกจากเอเชียถึงยุโรป ซึ่งเราได้พบความเชื่อมโยงทั้งจากหลักฐานทางโบราณคดีประเภทโบราณวัตถุในส่วนของประเทศจีน ที่มีลักษณะของโบราณวัตถุที่สามารถพบเห็นได้ในพิพิธภัณฑ์ในประเทศตุรกี และประเทศอื่นๆ ที่กองคาราวานสัญจรผ่าน ทั้งในเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสถานที่พักแรมของกองคาราวานในประเทศตุรกี เป็นหลักฐานการยืนยันชั้นต้นที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของกองคาราวานในอดีต และเส้นทางการเดินทางทางบกดังกล่าว

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ และสังเคราะห์ความเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เข้ากับเรื่องราวของสุวรรณภูมิ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ประเทศไทยในด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆ นั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ในหลายหลากแขนง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์พร้อมในการสร้างโครงข่ายความเชื่อมโยงสำหรับการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ทั้งในประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราในอนาคตต่อไป