Connecting the various traces of Suvarnabhumi by using Area-based Techniques

สุวรรณภูมิ หรือ แผ่นดินทองที่อุดมสมบูรณ์ ปรากฏอยู่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล เป็นอาณาจักรที่มีความยิ่งใหญ่ในอดีต ซึ่งเป็นแหล่งการค้าสำคัญในประวัติศาสตร์ และมีความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจและประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับ เส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน ทำให้ “สุวรรณภูมิ” เป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การค้าขายในอนาคตได้ ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงบริบทของโลกได้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มอาเซียน ผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือตามแนวเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกผ่านยุทธศาสตร์แห่งความสำเร็จในประวัติศาสตร์ของจีน เป็นต้น

การค้นหาแผ่นดินสุวรรณภูมิในอดีตในหลากหลายมุมมอง ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล ด้านศิลปะ การค้า ศาสนา วัฒนธรรม ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐาน ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน การตั้งถิ่นฐาน ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผ่านแนวคิดหลัก “Connecting the various traces of Suvarnabhumi by using Area-based Techniques” เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ที่ตั้งทางโบราณคดีและการพัฒนาการของเมืองโบราณ อันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในอดีตมีการศึกษาขอบเขตของดินแดนสุวรรณภูมิ โดยใช้ข้อมูลในมิติทางด้านวัฒนธรรม โบราณคดี ธรณีวิทยา ธรณีสัณฐาน ฯลฯ เพียงเท่านั้น แต่ยังไม่มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศอย่างกว้างขวางในหลายมิติ โดยเฉพาะมิติทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้น น่าสนใจ ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการศึกษาหรือทำงานประยุกต์ด้านดังกล่าวในวงแคบ

สทอภ. จึงมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Satellite & Geo-Informatics) มาเป็น เครื่องมือหลักในการศึกษา ร่วมกับข้อ มูลบ่งชี้ทางสถิติที่นำมา คำนวณ ประเมิน และจำแนกให้เห็นผลของความเชื่อมโยงของมรดกทาง วัฒนธรรม และที่ตั้ง ซึ่งจะทำให้สามารถเล็งเห็นความสำคัญของดินแดนสุวรรณภูมิที่สามารถนำมาพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ในปัจจุบันได้ โดยเป็นนวัตกรรมใหม่ในรูปแบบ Cultural Heritage platform ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการสร้างคุณค่าจากนวัตกรรมที่สามารถเปิดโลก แนวคิด และมุมมองใหม่ๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ทางด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความศรัทธากับประชาชน อันเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ให้เป็นรูปธรรม

 

สุวรรณภูมิ แผ่นดินทองที่ปรากฏอยู่ในการ
เผยแผ่พระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
และเป็นอาณาจักรที่มีความยิ่งใหญ่ในอดีต

วัตถุประสงค์ของโครงการ
  1. บูรณาการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในรูปแบบ Cultural strategy
    platform เพื่อนำเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ
  2. วิเคราะห์ดินแดน “สุวรรณภูมิ”
  3. เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเมืองประกอบดินแดนสุวรรณภูมิ ในมิติทาง
    เศรษฐกิจ สังคม และศาสนาวัฒนธรรม
รายละเอียดโครงการ

การประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ Area-Base ร่วมกับข้อมูลทางด้านสังคม เศรษฐกิจและประชากร เพื่อศึกษาแนวเขตดินแดนสุวรรณภูมิ ที่เคยมีความรุ่งเรืองในอดีต อันจะนำไปสู่การศึกษาทางด้านการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคม ของประชากรในกลุ่มประเทศสุวรรณภูมิ เพื่อการต่อยอดในการคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ