สุวรรณภูมิ : ภูมิแห่งคุณค่าอาเซียน


“สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวัณณภูมิ” หมายถึง แผ่นดินแห่งทองคำที่ครอบคลุมดินแดนตั้งแต่ส่วนที่อยู่เลยจากอินเดียมาจนจรดถึงจีน (Beyond India before China) เป็นพื้นที่ซึ่งปรากฏในเอกสารโบราณว่ามีมาตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล โดยมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแล้วพัฒนาเป็นรัฐอิสระในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดินแดนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและเป็นแหล่งใหญ่ของสินค้ามีค่าซึ่งเป็นที่ต้องการของพ่อค้าทั่วไป ได้แก่ ทองคำ เครื่องเทศ ไม้มีค่า อัญมณี และของป่า มีผู้เดินทางมาค้าขายและอยู่อาศัย ทั้งพ่อค้า นักปกครอง นักเผชิญโชค ด้วยลักษณะทำเลที่ตั้ง ทำให้พื้นที่นี้เป็นทั้งอู่อารยธรรมและสะพานเชื่อมการค้า การเดินทางระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน และยังคงความสำคัญในบทบาทนี้ต่อเนื่องไปในอนาคต
วันนี้“สุวรรณภูมิ”ยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมโยงภูมิภาคและเชื่อมโยงโลกในฐานะท่าอากาศยานสากลขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นับเป็นการสืบสานและส่งผ่านคุณค่าของแผ่นดินทองที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การค้าและพระพุทธศาสนาที่ยั่งยืนมากว่า 2,000ปี สมดังมงคลนามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้พระราชทาน ด้วยแรงบันดาลใจและความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ประเทศไทย) จึงได้เสนอโครงการสุวรรณภูมิ: ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก เป็นโครงการริเริ่มสร้างวัฒนธรรมร่วมตามวิถีแห่งอาเซียน “ASEAN Joint Culture  Initiative Program: The ASEAN Way” โดยการต่อยอดคุณค่าแห่งความสำเร็จของพื้นที่นี้ในคุณค่าหลากมิติ (Multidimensional value) ที่ยังปรากฏร่องรอยทางศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงแห่งภูมิภาค (Regional Connectivity) สู่การสร้างโอกาสความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า สังคมและการท่องเที่ยวของดินแดนสุวรรณภูมิหรือภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

อ่านเพิ่มเติมในรูปแบบหนังสือออนไลน์