ย้อนรอยอารยธรรมสุวรรณภูมิ ผ่าน 5 มิติ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ


ย้อนรอยอารยธรรมสุวรรณภูมิ ผ่าน 5 มิติ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

จากกระแสพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานชื่อท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 ของประเทศไทยว่า “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ความหมายว่า แผ่นดินทอง เนื่องจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของการคมนาคม เสมือนประตูเชื่อมโยงกับทั่วโลก
เป็นการจุดประกายแนวคิดในการทำโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ ให้แก่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) (สทอภ.) หรือ GISTDA (จิสด้า) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ที่ได้ริเริ่มโครงการโดยการนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือหลักในการศึกษา ร่วมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์ฐานข้อมูลประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิ ซึ่งเดิมทีเคยเป็นชายฝั่งทะเลของประเทศไทย รวมทั้งการวิเคราะห์คุณค่าและศักยภาพความเป็นเมืองสำคัญในแต่ละด้านทั้ง 5 มิติ ภายใต้ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งเมืองที่เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อศึกษาบทบาทหน้าที่ของสุวรรณภูมิและความเชื่อมโยงกับแหล่งอารยธรรมและการค้าโลก สร้างคุณค่าจากอดีต สู่ปัจจุบันและอนาคต

น.ส.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ อนุกรรมการและเลขานุการดำเนินการโครงการ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ Area-Base ระบุจุดพื้นที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏจากการรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์เชิงลึก รวมไปถึงข้อมูลที่มีการอ้างถึงดินแดนสุวรรณภูมิจากทั่วโลก โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น

เริ่มจากการทำเป็นแผนที่ตำแหน่งเมืองสำคัญและเส้นทางที่เกี่ยวข้องในดินแดนสุวรรณภูมิไปสู่การพัฒนาระบบนำเสนอโครงการ (Web Map Service : WMS) และการจัดทำ storybook ร้อยเรียงความเชื่อมโยงของดินแดนโบราณนี้ผ่านคุณค่า 5 มิติ ได้แก่ 1.ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและทรัพยากร 2.ด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐ 3.ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิทยาการและการผลิต 4.ด้านการค้าขาย พาณิชยการและบริการ 5.ด้านศิลปะและวัฒนธรรม
จ.สุพรรณบุรี ของประเทศไทยดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ราบในแถบภาคกลาง มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500 ปี ซึ่งมีเมืองอู่ทองเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมสุวรรณภูมิ

จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ พบว่า เมืองโบราณอู่ทองมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปวงรี

การศึกษาทางโบราณคดีทำให้ทราบว่า เมืองโบราณอู่ทองมีมนุษย์อยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว พบได้จากหลักฐานประเภทขวาน หินขัด ลูกปัด ภาชนะดินเผา เป็นต้น

ในปัจจุบัน สุพรรณบุรีมีอารยธรรมที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ทั้งยังเป็นตัวอย่างของการนำโครงการภูมิอารยธรรมสุวรรณภูมิด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศนี้มาใช้ได้อย่างเห็นภาพชัดเจนที่สุด คือ 1.โรงหล่อวิเชียร เหรียญทวารวดี เป็นวัตถุโบราณที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมอินเดีย ผ่านการค้าขายทางไกลโดยถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

โดยเหรียญแต่ละลายพิมพ์ก็จะมีหน้าที่และความหมายที่แตกต่างกันไป

หนึ่งเหรียญที่มีความสำคัญที่สุด คือ เหรียญสวละปุญญะ ขุดพบที่โบราณสถานคอกช้างดิน อ.อู่ทอง มีการสันนิษฐานว่าเหรียญนี้จะเป็นการสร้างของพระมหากษัตริย์ในสมัยของอาณาจักรฟูนัน ขุดพบเพียง 1 เหรียญในประเทศไทยที่สุพรรณบุรีเท่านั้น

หากพิจารณาตามทฤษฎีคุณค่า 5 มิติ ของสุวรรณภูมิ พบว่าโรงหล่อวิเชียรแห่งนี้สามารถบ่งบอกได้ 3 คุณค่า ได้แก่ 1.ด้านศิลปะและวัฒนธรรม เหรียญทวารวดี ประกอบความเชื่อหลายอย่างรวมกันโดยมีพุทธศาสนาเป็นแกนกลาง ผสมผสานด้วยความเชื่อ ภูตผี เทวดา และชีวิตหลังความตาย เหรียญบรรจุลงในโลงศพคนตายเพื่อให้คนตายไว้ติดตัวไปใช้ในโลกหน้า 2.ด้านการค้าขาย พาณิชยการและบริการ เหรียญนี้ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน บางส่วนใช้เพื่อเป็นเครื่องหมายในการผ่านด่าน 3.ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิทยาการและการผลิต

ถึงแม้การทำโรงหล่อเหรียญวิเชียร เป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรม ไม่ใช่การตกทอดมาตั้งแต่ยุคทวารวดี แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสืบทอดต่อคุณค่าของทวารวดีต่อไปให้อนุชนคนรุ่นหลัง จึงเป็นวิทยาการการผลิตที่สามารถส่งต่อคุณค่าทางวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจชุมชนในอนาคต

2.ศูนย์ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทดำโบราณ ชุมชนชาวไทดำ หรือลาวโซ่ง เป็นชาติพันธุ์สำคัญของพื้นที่เมืองอู่ทองโดยจากหลักฐานชาวไทดำมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศลาวและเวียดนาม ในการอพยพระยะแรกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เขาย้อย จ.เพชรบุรี

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาติพันธุ์ไททรงดำ มีการทอผ้าซิ่นโบราณและสถาปัตยกรรม “เฮือนกระดองเต่า” หากพิจารณาตามทฤษฎีคุณค่า 5 มิติ พบว่าชุมชนไทดำโบราณสามารถบ่งบอกได้ 3 คุณค่า คือ ด้านภูมิศาสตร์กายภาพและทรัพยากร เนื่องจากพื้นที่ของอู่ทองมีกายภาพของพื้นที่เป็นที่ราบน้ำทะเลท่วมถึง มีการสะสมของตะกอน บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรต่างๆ ทำให้การทำเกษตรได้ผลผลิตดี

ด้านการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของรัฐ เมืองโบราณอู่ทองเป็นสถานที่เหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานจึงเป็นแหล่งรวมชาติพันธุ์ที่อพยพและได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาจนถึงปัจจุบัน ด้านศิลปะและวัฒนธรรม จากการเคลื่อนย้ายของชาติพันธุ์ทั้งประเทศเวียดนาม-ลาวเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลให้เป็นแหล่งรวมวิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์อย่างลงตัว

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของความเชื่อมโยงในอารยธรรมทวารวดี ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ที่สามารถใช้ฐานข้อมูลนี้เป็นเครื่องมือในการศึกษาได้ รวมไปถึงด้านการพัฒนาประเทศที่จะต้องมีการศึกษาอดีตของพื้นที่ต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีกด้วย

จิราพร จันทร์เรือง
nickska@hotmail.com
ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1180195